การพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้กับกลโกงทางการเงินแบบใหม่ที่สามารถทำให้คุณตกเป็นเหยื่อโจรกรรมทางการเงินได้โดยไม่รู้ตัว เพื่อให้คุณป้องกันตัวเองได้ นี่คือบทความเตือนภัยเกี่ยวกับกลโกงภัยการเงินแบบใหม่ที่คุณควรระวัง!
รู้ทันกลโกง !! ก่อนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
1. กลโกงผ่านอีเมลหรือข้อความ
มิจฉาชีพจะส่งอีเมลหรือข้อความที่ดูเหมือนจะมาจากธนาคารหรือบริการทางการเงินที่คุณไว้วางใจ เพื่อหลอกล่อให้คุณให้ข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลการเข้าสู่ระบบ หากคุณไม่ระวังข้อมูลนี้อาจถูกใช้เพื่อเข้าถึงบัญชีของคุณและทำธุรกรรมทางการเงินโดยที่คุณไม่รู้ตัว
2. แอปพลิเคชันปลอม
มิจฉาชีพจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ดูคล้ายหรือพัฒนาออกมาให้เหมือนแอปทางการเงินที่คุณคุ้นตา แต่แท้จริงแล้วมีวัตถุประสงค์เพื่อขโมยข้อมูลจากผู้ใช้งาน ก่อนดาวน์โหลดแอปควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือและรีวิวจากผู้ใช้งานจริงก่อนดาวน์โหลด
3. ข้อความหลอกล่อการลงทุน
หากได้รับข้อความหลอกล่อให้ลงทุนในธุรกิจหรือกิจการที่มีผลตอบแทนสูงอย่างไม่น่าเชื่อ หรือให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นการลงทุนแบบไม่มีความเสี่ยง ซึ่งมักจบลงด้วยการที่ผู้ลงทุนโดนหลอกและสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก
4. หลอกผูกบัญชีกับเบอร์โทรศัพท์
มิจฉาชีพจะทำการโทรหาคุณ จากนั้นจะสร้างสถานการณ์ต่างๆ อ้างเหตุผลหลากหลายรูปแบบ ให้คุณหลงกล เช่น ติดหนี้บัตรเครดิต ไม่จ่ายภาษี มีพัสดุค้างจัดส่ง หรือสั่งซื้อสินค้า เป็นต้น โดยจะหลอกล่อถามคุณว่าบัญชีธนาคารได้ผูกติดกับเบอร์โทรศัพท์ หรือเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือไม่ จากนั้นพอได้ข้อมูลมาแก๊งมิจฉาชีพก็จะทำการเอาไปผูกกับบัญชีที่เปิดใหม่เปิดบัญชีแบบออนไลน์ และผูกกับข้อมูลของคุณที่ให้ไว้ หากกด “ยอมรับ” จากข้อความที่แจ้งเตือนขึ้นมาในโทรศัพท์ มิจฉาชีพก็จะดูดเงินของคุณออกไปจนหมดบัญชี
5. การสวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือองค์กร
มิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือ เช่น ธนาคารกลาง สำนักงานภาษี หรือสถานบันการเงินที่ให้บริการสินเชื่อ เพื่อหลอกลวงให้คุณโอนเงินหรือให้ข้อมูลส่วนบุคคล โดยอ้างว่าเป็นการตรวจสอบข้อมูลหรือการชำระหนี้ที่ค้างอยู่ หรือมาในรูปแบบแอบอ้างเป็นพนักงานจากหน่วยงานรัฐหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือให้ชำระเงินโดยโอนเงินผ่านบัญชีส่วนตัว